วันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2554

จะวัดความสามารถในการคิดวิเคราะห์ได้อย่างไร

จากที่ได้กล่าวถึงความหมายและความสำคัญของ “การคิดวิเคราะห์” (critical thinking) ในบทความก่อนหน้านี้ สำหรับบทความนี้จะขอกล่าวถึงว่า จะทำอย่างไร จึงจะสามารถบอกได้ว่า คนไหนมีความสามารถใน “การคิดวิเคราะห์” ที่ดี







จากการได้เข้า Workshop ที่จัดขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญจาก World Bank เกี่ยวกับวิธีการประเมิน (Assessment) ทักษะต่างๆ ของผู้เรียนและจากการสืบค้นทางอินเทอร์เน็ต ผมสรุปได้ว่า วิธีการประเมินทักษะการคิดวิเคราะห์มี 4 วิธีหลักดังต่อไปนี้






1. ให้นักเรียนอ่านบทความใดบทความหนึ่ง อาจจะเป็นบทความในหนังสือพิมพ์ หรือนิตยสาร และนักเรียนสามารถบ่งชี้ได้ว่า ข้อความใดเป็น ความเห็นข้อความใดเป็น ข้อเท็จจริงได้อย่างถุกต้อง

2. ให้นักเรียนอ่านบทความใดบทความหนึ่ง อาจจะเป็นในหนังสือพิมพ์ หรือนิตยสาร นักเรียนสามารถบ่งชี้ถึง สมมติฐานและ อคติของ "ผู้เขียน" บทความนั้นๆ ได้ อย่างถูกต้อง

3. นักเรียนสามารถ เขียนบทความสนับสนุนหรือโต้แย้ง ประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นประเด็นทางสังคม เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ เศรษฐกิจ ฯลฯ ได้อย่างเชื่อถือ มีข้อเท็จจริงที่เหมาะสมสนับสนุน และเมื่อได้อ่านแล้วสามารถคล้อยตามข้อสนับสนุนหรือข้อโต้แย้งของประเด็นในบทความนั้นๆ ได้





4. นักเรียนสามารถ "สร้างสมมติฐาน" จากการวิเคราะห์ข้อเท็จจริงต่างๆ ของสถานการณ์หนึ่งๆ ได้อย่างถูกต้อง

จะเห็นได้ว่า การประเมินทักษะการคิดวิเคราะห์ ที่ได้กล่าวมา ไม่มีการให้ความสำคัญในบริบทของการศึกษาไทย ไม่ว่าจะเป็นในระดับชั้นมัธยม หรือ ระดับมหาวิทยาลัย ไม่มีใครพูดถึง ส่วนใหญ่จะเป็นการวัดความสามารถในการจำเนื้อหาและทักษะการแก้โจทย์ปัญหา






หลายคนที่เคยสอบ TOEFL อาจจะตั้งข้อสังเกตว่า วิธีการวัดทักษะการคิดวิเคราะห์ทั้ง 3 วิธีนั้น มีอยู่ในเนื้อหาการสอบ TOEFL โดยเฉพาะในส่วนของ Reading และ Essay ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า คนที่ทำคะแนน TOEFL ได้ดี คือคนที่มีทักษะการคิดวิเคราะห์ที่ดีระดับหนึ่ง (และแน่นอนว่า มีทักษะทางภาษาอังกฤษที่ดีด้วย) ในขณะที่คนที่ไม่มีหรือไม่ให้ความสำคัญกับทักษะการคิดวิเคราะห์ อาจจะมองเห็นว่าการได้คะแนน TOEFL สูง คือการมีความชำนาญด้านภาษามาก ??? (ทั้งนี้ มีข้อสังเกต ในกรณีของนักเรียนไทยที่บางคน ได้ฝึกการทำข้อสอบ TOEFL ถึงกับที่ว่าเป็นนักทำข้อสอบ รู้เทคนิคต่างๆ ในการทำข้อสบ TOEFL จนช่ำชอง จนกระทั่ง อาจจะทำคะแนนสอบ TOEFL ได้ดีแต่ยังขาดทักษะการคิดวิเคราะห์ ก็เป็นได้)






หากมีคนถามว่า การศึกษาที่มีคุณภาพคือการศึกษาแบบใด ผมเองคิดว่า คำตอบคือ การศึกษาที่สอนให้นักเรียนมีทักษะการคิดวิเคราะห์ที่ดี (แต่คงไม่ทั้งหมด)
สุดท้าย ขอฝากวีดีโอจาก Youtube ที่อธิบายถึงทักษะและความสำคัญของ "การคิดวิเคราะห์" ไว้ ณ ที่นี้
























วันเสาร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เก็บตกการประชุมสัมมนาประสบการณ์จากโครงการ TIMSS และ PISA ของประเทศเพื่อนบ้าน

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้มีโอกาสไปเข้าร่วมประชุมสัมมนา เรื่อง การพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์: ประสบการณ์จากโครงการ PISA และ TIMSS ของฮ่องกง เกาหลีใต้และสิงคโปร์ ซึ่งจัดโดย สสวท. สพฐ. และ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา โดยภายในงาน ทางเจ้าภาพได้เรียนเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาจากทั้ง 3 ประเทศมาบอกเล่าประสบการณ์ของการพัฒนาการศึกษาของประเทศตัวเองให้เจ้าหน้าที่ ราชการของกระทรวง ครู นักการศึกษา ของไทยได้ฟังซักถาม และอภิปราย

จากการได้ฟังการบรรยายและอภิปรายนานกว่า 6 ชั่วโมง สรุปได้ว่า แต่ละประเทศ มีแนวทางที่แตกต่างกันบางส่วนและเหมือนกันในบางส่วน ในส่วนที่แตกต่างกันคือ เกาหลี มีวัฒนธรรมที่พ่อแม่ทุ่มเทให้กับการศึกษาของลูกมากอยู่แล้ว นักเรียนได้รับการสนับสนุนให้ใช้เวลาเรียนหลังโรงเรียนเลิกอีกหลายชั่วโมงในการทบทวน ฝึกทำโจทย์ ส่วนสิงคโปร์ได้อ้างว่า ครูเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการศึกษาของประเทศเขา มีการสร้าง Master Teacher หรือครูสอนดี ที่ได้รับเกียรติ และยกย่องให้มีฐานะพอๆ กับผู้บริหารระดับสูงของสถานศึกษา อีกทั้งการผลิตตำราที่มีคุณภาพสูงเหมาะกับบริบทของประเทศตัวเอง การศึกษาของสิงคโปร์กระจายได้ทั่วถึง นักเรียนคนใดที่ยากจนไม่มีเงินเรียน ได้รับการจัดสรรค่าเล่าเรียนจากครอบครัวที่ร่ำรวย อีกทั้งพ่อแม่คนสิงคโปร์ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาของลูก จะเอาใจใส่กับการเรียนของลูกมาก ส่วนฮ่องกง ได้อ้างอิงถึง ประเพณีและระบบการศึกษาที่ได้รับช่วงต่อมาจากประเทศอังกฤษ การมีหลักสูตรที่ค่อนข้างแน่นอน ไม่เปลี่ยนแปลงบ่อย และครูที่มีวุฒิและความชำนาญในวิชาที่จบการศึกษามา ทำให้สามารถสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในความแตกต่างที่กล่าวมานั้น ทั้ง 3 ประเทศมีสิ่งที่เหมือนกันคือ การมีครูที่ดี มีความสามารถ มีความชำนาญในสาขาที่สอนและ การที่พ่อแม่เอาใจใส่กับการศึกษาของลูก อีกทั้ง ตามข้อเสนอของศาสตราจารย์จากประเทศฮ่องกง ได้อ้างถึงวัฒนธรรมที่เหมือนกันของประเทศในแถบเอเชียตะวันออก นั่นคือ วัฒนธรรมขงจื้อ (Confucius) ที่ให้คุณค่ากับการสอบ นั่นคือ เป็นประเพณีที่ถือว่า การที่ลูกบ้านใดจะได้เป็นข้าราชการชั้นสูงหรือยกฐานะทางสังคมให้กับตัวเองและครอบครัวนั้น คือต้องสอบแข่งขันทั่วประเทศให้ผ่าน ในขณะที่ผู้ที่ทำข้อสอบไม่ผ่านจะได้ถูกตราหน้าว่าเป็นผู้แพ้และอับอาย ดังนั้น พ่อแม่ ญาติๆ ทุกคนของประเทศที่มีพื้นฐานของวัฒนธรรมขงจื๊อ จึงสนับสนุนการเรียนการเตรียมสอบลูกหลานอย่างสุดตัว ให้คร่ำเคร่ง ฝึกฝน มุมานะกับการเตรียมการทำข้อสอบที่จะส่งผลถึงอนาคตของลูกหลาน

นอกจากนี้ ในส่วนที่เหมือนกันส่วนหนึ่งที่ค่อนข้างเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจของทั้งสามประเทศ คือ ผลการสำรวจที่ออกมาเหมือนกันว่า นักเรียนในทั้ง 3 ประเทศ มีทัศนคติไม่ดี หรือ ไม่มีความสุขมากนัก กับการต้องเรียนวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์ในชั้นเรียน ซึ่งสาเหตุอาจเนื่องมาจาก การที่ถูกบังคับให้เรียนเพื่อสอบได้คะแนนดีๆ มากกว่าที่จะเรียนหนักเพราะอยากเรียนอยากรู้หรือมีความสนใจอย่างแท้จริง ซึ่งในส่วนนี้ ผู้เชี่ยวชาญจากฮ่องกงได้ให้ข้อคิดเห็นว่า การต้องแข่งขันกันอย่างหนักเพื่อสอบให้ได้คะแนนสูงๆ อาจส่งผลเชิงลบกับ “การใฝ่เรียนใฝ่รู้ตลอดชีวิต” ของนักเรียน

สำหรับประเทศไทย มีผู้เชี่ยวชาญจากหลายสำนัก ที่ได้ทำการวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำให้คะแนน PISA และ TIMSS ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ได้กล่าวถึงเหตุผลหลักๆ นั่นคือ ปัญหาการที่มีครูผู้สอนไม่มีคุณภาพ ไม่มีวุฒิตรงกับวิชาที่สอน การสอนที่ไม่เน้นกระบวนการคิดอย่างข้อสอบใน PISA การขาดการส่งเสริมและสนับสนุนในการเรียนจากผู้ปกครองและชุมชน อีกทั้ง การมีวัฒนธรรมของประเทศที่ไม่เอื้อหรือให้คุณค่ากับการคิดเชิงเหตุผลและการมีทัศนคติเชิงบวกกับวิทยาศาสตร์

สิ่งเหล่านี้ ผมเชื่อว่า ได้ให้ประโยชน์กับผู้ที่ได้เข้าฟัง ในการนำไปพิจารณาเพื่อปรับหรือวางแนวทางในการขับเคลื่อนการศึกษาของประเทศไทย ซึ่งผมเองเห็นด้วยอย่างมากกับการพยายามพัฒนาคุณภาพครู พยายามดึงคนเก่งๆ ระดับหัวกะทิให้มาเป็นครู และพัฒนาอาชีพครูให้ได้รับเกียรติและค่าครองชีพที่สูง เพราะครู คือกุญแจของการศึกษาที่มีคุณภาพ หรือไม่ว่าจะเป็นการพยายามให้พ่อแม่ได้มามีส่วนกับการศึกษาของลูกมากกว่านี้ การทำตำราที่มีคุณภาพเหมาะสมกับบริบทและวัฒนธรรมของประเทศไทย ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ คงต้องได้รับความร่วมมือ ความใส่ใจจากทุกฝ่าย ไม่เพียงบุคลากรรัฐในหน่วยงานของกระทรวงที่ได้มานั่งฟังบรรยายในวันนั้น

แต่ ถึงอย่างไรก็ดี หากจะให้มีการวางแนวทางให้นักเรียนไทยเป็นนักทำข้อสอบ PISA เพื่อที่จะได้คะแนน PISA ของประเทศขึ้น นั่นหมายถึง มีการจัดสรรเวลาหลังเลิกเรียนหรือวันหยุด เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกทำข้อสอบ PISA หรือ TIMSS กันหามรุ่งหามค่ำ ดังกับที่เกิดขึ้นกับการเรียนเสริมพิเศษของนักเรียนไทยที่ต้องติวเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยนั้น คงไม่ใช่วิถีทางที่เหมาะสม เพราะผมเองไม่คิดว่า การที่นักเรียนจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ จำเป็นต้องเป็นนักเรียนที่ได้คะแนน PISA สูงๆ เพียงอย่างเดียว เพราะมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่ข้อสอบไม่สามารถวัดได้ อย่างเช่น การมีสุขภาวะทางอารมณ์ที่ดี ( หรือที่เรียกกันว่า EQ) การมีบุคลิกภาพและทัศนคติ (character and attitude) ที่พร้อมที่จะอยู่ร่วมและทำงานกับผู้คนหลากหลายในสังคมได้อย่างมีความสุข หรือไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาอุปนิสัยและลักษณะของนักประดิษฐ์ คิดค้น อย่าง การเป็นคนที่มีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ (imagination and creativity) การมีอุปนิสัยศึกษาค้นคว้าด้วยความสนใจใคร่รู้ของตัวเอง (habit of following one’s natural curiosity) ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นไม่ได้ จากการถูกจัดให้อยู่ในห้องสี่เหลี่ยมและนั่งคิดตอบคำถามบนหน้ากระดาษซ้ำๆ กัน หากแต่บุคลิกลักษณะต่างๆ เหล่านี้ ต้องอาศัยช่วงเวลานอกห้องเรียน ที่ให้นักเรียนได้เลือกที่จะเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่ตัวเองชอบ และสนใจ อย่างอิสระ ได้ค้นหา ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ อาจารย์ เชื่อมโยง ความรู้ ประสบการณ์ที่ได้เรียนกับบุคคลและสิ่งแวดล้อมที่นักเรียนอยู่ สิ่งเหล่านี้ผมเห็นว่าต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครอง ครู และผู้ใหญ่ท่านอื่นๆ อย่างเต็มที่เฉกเช่นกันกับการมุ่งทำข้อสอบทางวิชาการให้คะแนนสูง


วันพฤหัสบดีที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2554

การคิดวิเคราะห์คืออะไร และสำคัญอย่างไร

การคิดวิเคราะห์คืออะไรและสำคัญอย่างไร


คำถามนี้ เป็นคำถามที่หลายคน พยายามหาคำตอบ เพราะว่า ได้ยินกันบ่อยขึ้นเรื่อยๆ ว่า นักเรียนไทยขาดการคิดวิเคราะห์มาก ในบริบทของการศึกษาในโรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือสถาบันต่างๆ ของไทย ไม่ได้เน้นการส่งเสริมให้เกิดทักษะการคิดแบบนี้ด้วย



การคิดวิเคราะห์ ในภาษาอังกฤษ



ก่อนจะกล่าวถึงความหมายและความสำคัญของการคิดวิเคราะห์ คำว่า “คิดวิเคราะห์” นั้นแทนคำในภาษาอังกฤษที่ว่า “Critical Thinking” ซึ่งเมื่อแปลเป็นภาษาไทยตามตัวแล้ว คำว่า “คิดวิเคราะห์” น่าจะแปลได้ว่า Analytical Thinking ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Critical Thinking



คำว่า Critical Thinking ได้มีการบัญญัติศัพท์ไว้แล้ว นั่นคือคำว่า “การคิดเชิงวิจารณญาณ” แต่ทั่วไปไม่ใช้กัน คิดว่าอาจเป็นเพราะคำนี้พูดยาก ใช้ยาก เลยใช้คำว่า “คิดวิเคราะห์” แทน โดยหมายความรวมไปทีเดียวเลยว่าเป็นทั้ง Critical Thinking และ Analytical Thinking ดังนั้น ในที่นี้ ขอใช้คำว่า “คิดวิเคราะห์” ในความหมายเดียวกับ “คิดเชิงวิจารณญาณ” หรือ “Critical Thinking” ในภาษาอังกฤษนั่นเอง




แล้วทำไมต้องคิดวิเคราะห์ด้วย



โดยธรรมชาติของมนุษย์เอง มนุษย์จะดำรงชีวิตอยู่ได้ ล้วนต้องอาศัย “การคิด” เป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการคิดว่าจะกินอะไรในมื้อเย็น คิดว่าจะทำงานชิ้นใดก่อนหรือหลัง เพื่อให้วันทำงานวันนั้นมีประสิทธิภาพมากที่สุด ฯลฯ



และโดยธรรมชาติที่ติดตัวมาของมนุษย์ การคิดของมนุษย์ทุกคน หากไม่ได้มีการขัดเกลา ล้วนเป็นความคิดอย่างลำเอียง เข้าข้าง (ดังเช่นเมื่อสมัยเราเป็นเด็ก) หรือ อาจเลยลึกไปถึง การคิดอย่างมีอคติและรังเกียจเดียดฉันท์ หรืออาจแย่ที่ลึกไปอีกคือการคิดอย่างคุ่มแค้น



ดังนั้น การที่มนุษย์เราจะสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพนั้น ขึ้นอยู่กับการคิดที่มีคุณภาพของมนุษย์ เนื่องจาก "ความคิด" เป็นสิ่งที่ไปกำหนดการกระทำ การแสดงออก การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ทุกสิ่งที่เราทำ ทุกสิ่งที่เราผลิตและสร้างขึ้นมานั้น ล้วนเป็นผลโดยตรงมาจาก “คุณภาพการคิด” ของเรา หากการคิดของคนๆ ใดไม่มีคุณภาพ การกระทำ การแสดงออก หรือการดำเนินชีวิตโดยรวมก็จะไม่มีคุณภาพไปด้วย และอาจเลยล้ำไปถึงการสร้างความเสียหายให้กับสังคมโดยรวม



แล้ว “การคิดวิเคราะห์” เป็นลักษณะการคิดที่นำไปสู่การดำรงชีวิตและการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุขหรือ



การคิดวิเคราะห์คืออะไร
ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เพื่อที่จะให้ชีวิตได้ดำเนินไปอย่างมีคุณภาพ การคิดของเราจึงต้องมีคุณภาพด้วย ซึ่งคือการคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking) นั่นเอง



การคิดวิเคราะห์ หมายถึง การคิดอย่างมีการประเมินการคิด คิดอย่างปราศจากความคิดถืออัตตา (egocentrisim) การคิดถือพวก (sociocentrism) การทึกทักเอาเองโดยไม่มีหลักฐานสนับสนุน (unwarranted assumption) คิดอย่างปราศจากการคิดที่ตามใจอยากให้เป็น (wishful thinking) คิด้วยแนวคิดที่นำไปสู่การปรังปรุงวิธีคิดของตนเองให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ มีผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ทั้งหลายได้ยืนยันว่า "การคิดวิเคราะห์ที่ดี นำไปสู่การติดต่อสื่อความหมายและเพิ่มความสามารถในการแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ" ในการเรียนการศึกษา การทำงาน **



แล้วในการเรียนการสอน จะมีวิธีการสังเกตหรือวัด “การคิดวิเคราะห์” ของนักเรียนได้อย่างไร ผมจะขอกล่าวถึงในบทความถัดไป




(**อ้างอิง: http://www.criticalthinking.org)

วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

วิทยาศาสตร์กับ "คำถาม"

จากที่ผมได้เคยกล่าวถึงหัวข้อเกี่ยวกับ "คนไทย กับการเป็นคนช่างซักถามด้วยความสนใจใฝ่รู้" ผมขอเพิ่มตัวอย่างสนับสนุนคำกล่าวของผม ดังนี้

ตัวอย่างแรก ผมได้มาจาก Workshop หนึ่งที่สถาบันที่ผมทำงานอยู่ มีใจความว่า ในศตวรรษที่ 16 ผู้คนที่เดินทางมองขึ้นไปบนท้องฟ้าในเวลากลางคืน และเห็นดาวอยู่กันเป็นรูปแบบที่ตายตัว และเคลื่อนที่ตามเส้นทางประจำอย่างสม่ำเสมอบนท้องฟ้า คนส่วนใหญ่ต่างก็สงสัยและถามคำถามว่า “ทำไมดวงดาวที่อยู่ในรูปแบบเหล่านั้นไม่ไปไหน” ซึ่งไม่ได้มีความหมายอะไร และไม่ได้นำไปสู่การเข้าใจหรือการสืบเสาะหาความรู้เพิ่มเติม แต่ว่า มีชายอีกคนหนึ่ง ได้มองบนท้องฟ้าเดียวกัน ได้ถามคำถามว่า ทำไม ดาวเคลื่อนที่ในลักษณะนั้น ซึ่งเป็นคำถามที่เขาได้ครุ่นคิดและพยายามหาคำตอบ จนนำไปสู่ รูปแบบแรกของจักรวาล (First models of the universe)” และความคิดพื้นฐานเกี่ยวกับฟิสิกส์ของระบบเคลื่อนที่ (Physics of moving systems) ชายคนนั้นคือ Sir Isaac Newton นั่นเอง

อีกตัวอย่างหนึ่ง ในหนังสือ The Pleasure of Finding Things Out ของ Richard P. Feynman นักฟิสิกส์ที่มีชื่อเสียง สัญชาติอเมริกัน เขาได้เล่าเกี่ยวกับอิทธิพลของพ่อของเขาในการมีส่วนทำให้เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดี ในสมัยที่เขายังเด็ก พ่อของเขา ชอบพาเขาไปเดินเล่นชมธรรมชาติในป่าใกล้ๆ หมู่บ้านของเขา และจะชอบอธิบายถึงสิ่งต่างๆ ที่พบเห็นในป่าให้เขาฟัง การเดินป่าเล่นของ Feynman กับพ่อเขา ทำให้เป็นที่สังเกตของคนในหมู่บ้าน ทำให้เกิดการเอาอย่าง เพราะแม่บ้านในในหมู่บ้านเห็นว่าเป็นเรื่องดี และ วันหนึ่ง เมื่อ Feynman ไปโรงเรียน เพื่อนของ Feynman ที่อยู่ในบริเวณหมู่บ้านเดียวกัน ได้ถามเขาว่า “รู้ไหมว่า นกสีน้ำตาลที่เห็นในป่านั้นชื่อนกอะไร” Feynman ตอบว่า “เขาไม่รู้” เพื่อนของ Feynman จึงบอกว่า “พ่อของนาย ไม่ได้สอนอะไรนายเลย เวลาไปเดินป่า” แต่ Feynman รู้ว่า เขาได้เรียนรู้จากพ่อมากมายเกี่ยวกับนก แต่สิ่งที่เขาได้เรียนรู้ ไม่ใช่ชื่อของนก เมื่อพ่อของเขาพาเขาไปเดินชมธรรมชาติในป่า พ่อของเขาจะถามว่า “ดูนกนั่นสิ นั่นคือนก 'brown-throated thrush' (ในภาษาอังกฤษ) ถ้าในภาษาเยอรมัน นกนี้มีชื่อเรียกว่า 'halsenflugel' ส่วนในภาษาจีน นกนี้จะชื่อว่า 'ชุง ลิง' แต่ถึงแม้ลูกอาจจะรู้ชื่อนกชนิดนี้ ในทุกภาษาบนโลกนี้ ลูกอาจจะยังคงไม่รู้อะไรเกี่ยวกับนกตัวนี้เลย” พ่อของ Feynman กล่าวต่อว่า “ เรามารู้จักนกชนิดนี้กันน นกชนิดนี้ ร้องเพลงได้ ตัวแม่จะคอยสอนตัวลูกให้บิน และพวกมันจะบินระยะทางหลายร้อยไมล์ข้ามประเทศและบินกลับมายังรัง แต่ยังไม่มีใครรู้เลยว่า นกพวกนี้ จำทางบินกลับถิ่นฐานเดิมได้อย่างไร” Feynman ได้เล่าต่อว่า เขาจึงได้เรียนรู้เกี่ยวกับ “นก” และธรรมชาติต่างๆ ในป่าจากพ่อของเขา โดยไม่ได้จดจำว่า นกที่เขาเห็นหรือพืชที่เขาพบนั้นชื่ออะไร การถามคำถามว่า “นกนี้ชื่ออะไร” จึงไมเป็นคำถามที่นำไปสู่การสืบเสาะหาความรู้ หรือการสร้างสรรค์ความรู้ใหม่ๆ

ตัวอย่างสุดท้าย ที่ผมประทับใจ เป็นเรื่องราวของของนักฟิสิกส์รางวัลโนเบล Isidor I. Rabi เขาเล่าไว้ว่า เขาเคยได้รับคำถามจากเพื่อนของเขาว่า ทำไม เขาถึงได้เลือกที่จะทำอาชีพเป็นนักวิทยาศาสตร์ ทำไมเขาไม่ไปเป็นหมอหรือทนาย หรือนักธุรกิจ เหมือนกับเด็กๆ ส่วนใหญ่แถวบ้าน Isidor I. Rabi ได้บอกเพื่อนเขาว่า “แม่ของผม สร้างให้ผมเป็นนักวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ผมยังเด็กโดยที่แม่ไม่รู้ตัว” Rabi เล่าต่อไปว่าในสมัยที่เขายังเด็ก แม่ของเด็กเชื้อสายยิวในบริเวณชุมชนของบ้านของเขานั้นมักจะถามลูกๆ ของตัวเองที่เพิ่งกลับมาจากโรงเรียนว่า “เป็นยังไง ที่โรงเรียนวันนี้ ลูกได้เรียนรู้อะไรบ้าง” แต่แม่ของ Rabi ไม่ได้ถามเขาด้วยคำถามแบบเดียวกันนั้น แม่ของ Rabi จะถามลูกๆ เมื่อกลับมาจากโรงเรียนว่า “วันนี้ ลูกได้ถามคำถามที่ดี บ้างหรือยัง” Rabi บอกว่า “นั่นคือความแตกต่าง การถามคำถามที่ดี ทำให้ผมอยากมีอาชีพเป็นนักวิทยาศาสตร์”

การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ของไทย ถ้าจะเน้น กระตุ้น หรือให้รางวัล กับนักเรียนที่ถามคำถามดีๆ (นอกจากการที่่่นักเรียนตอบคำถามได้ดีหรือถูกต้อง) อาจจะเป็นทางหนึ่งในการสร้างความเป็นนักวิทยาศาสตร์ให้กับนักเรียน น่าจะมีการส่งเสริมและสร้างนิสัยการเป็นคนช่างซักถามด้วยความสนใจใฝ่รู้ให้เกิดกับนักเรียนไทย สร้างบรรยากาศการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ในประเด็นต่างๆ ที่ได้เรียน ไม่เช่นนั้น ผมคงได้ประสบกับบรรยากาศเดิมในงานประชุมทางวิทยาศาสตร์ระดับประเทศ เหมือนอย่างที่ประสบใน 10 ปีที่ผ่านมา

วันพุธที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

คนไทยกับการเป็นคนช่างซักถามด้วยความสนใจใฝ่รู้

จากประสบการณ์กว่า 10 ปี ที่ได้อยู่ในวงการศึกษา ค้นคว้า วิจัยทางด้าน วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการได้เคยเป็นนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา หรือการเป็นนักวิชาการ ผมยังได้ประสบกับสถานการณ์เดิมที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อได้เข้าไปฟังบรรยายหรือสัมมนาใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอโครงงานของนักเรียนระดับมัธยมปลาย การสัมมนาระดับปริญญาโทหรือเอก หรือการบรรยายผลงานการค้นคว้าวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ระดับมืออาชีพ นั่นก็คือ เมื่อมีการบรรยายหรือการสัมมนาจบลง และผู้พูดเปิดโอกาสให้ผู้ฟังได้ซักถาม จะไม่มีนักเรียน นักศึกษาไทย คนใด ยกมือถามอย่างกระตือรือร้น

เหตุการณ์แบบนี้ ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นสิ่งที่ผมได้ประสบเรื่อยมา และล่าสุด ผมได้เข้าร่วมประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วทท.) ครั้งที่ 36 ซึ่งเป็นงานประชุมวิชาการระดับชาติที่จัดขึ้นทุกปี โดยในปีนี้ จัดขึ้นที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ซึ่งใกล้ที่ทำงานผม จึงทำให้ผมได้มีโอกาสเดินทางเข้าไปฟังการบรรยายหลายหัวข้อที่ผมสนใจ หลังการบรรยายในแต่ละหัวข้อจบลง (ผมเข้าฟังประมาณ 5 หัวข้อบรรยาย) ผมได้ประสบกับสิ่งที่ผมได้พบตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา นั่นก็คือ เมื่อผู้บรรยายเปิดโอกาสให้ผู้ฟังได้ซักถาม กลับไม่มีผู้ฟังคนใด ยกมือขึ้นถามเลย ทั้งที่ นี่เป็นงานนำเสนองานวิจัย ระดับชาติ แต่ผู้ฟังที่นั่งอยู่ค่อนห้อง กลับไม่มีใครมีประเด็นสงสัย หรือสนใจ อยากรู้จากเรื่องที่ได้บรรยายมากว่าครึ่งชั่วโมงเลย หรือเป็นวัฒนธรรมไทยไปแล้ว ว่าการไม่ถามนั้นเป็นสิ่งนิยมปฏิบัติ


โปสเตอร์งานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 36


แน่นอนว่า นักเรียนไทย ไม่ได้ถูกฝึกให้เป็นผู้ถาม เพราะว่าโรงเรียนไม่ได้ประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนจาก “คำถาม” แต่เป็น “คำตอบ” ที่ถูกต้องของนักเรียน นักเรียนจึงได้ถูกส่งเสริมและขัดเกราให้มีทัศนคติกับการพยายามมุ่งตอบด้วยคำตอบที่ถูกต้อง ห้องเรียนไม่ได้ส่งเสริมการเสี่ยงหรือส่งเสริมให้เกิดความผิดแผก แหวกแนว ด้วยเหตุนี้ นักเรียนคนที่ถามคำถามในชั้นเรียนหรือในห้องบรรยาย ด้วย คำถาม ที่อาจจะนอกกรอบ นอกแนวทางจึงดูเหมือนกับ เป็นการแสดงความไม่รู้ ไม่เข้าใจ ในเนื้อหา หรืออาจจะเกินไปเลยไปถึง การถูกหมั่นไส้จากเพื่อนๆ เพราะการทำตัวเด่น ผิดแผกจากผู้อื่น การถามคำถามจึงดูเหมือนส่งผลเชิงลบและลบกับผู้ถาม การไม่ถามและนั่งนิ่งๆ ในห้องเรียนหรือห้องบรรยาย จึงเป็นการเซฟตัวเอง ไม่เสี่ยงกับการถูกมองว่า ไม่เข้าใจ อ่อนศักยภาพ หรือการถูกหมั่นไส้จากเพื่อนๆ ในห้อง

หากแต่ว่า การเป็นผู้ไม่ถาม นั่งนิ่งๆ เฝ้าแต่จะตอบด้วยคำตอบที่ถูกต้องนั้น จะทำให้มีเพียงทักษะของ "การจำ" ข้อมูลหรือข้อเท็จจริง ในขณะที่ ผู้ที่มุ่งถามด้วย คำถาม จากความสนใจใฝ่รู้ จะได้ฝึกการมีนิสัยเป็นคนช่างสังเกต ครุ่นคิด และพยายามสืบเสาะหาความรู้ด้วยตัวเอง (และอาจจะได้ความรู้หรือวิธีการใหม่ๆ ที่อาจจะไม่เคยมีใครคิดได้มาก่อน) เกิดความคิดสร้างสรรค์ วิเคราะห์ วิจารณ์ หรือบางที คำถามที่ดีมาก อาจจะนำไปสู่หัวข้อวิจัยที่ดีได้อีกด้วย

ภาพบรรยากาศในห้องบรรยายงาน วทท. 36 ที่ไบเทค บางนา (ที่มา: เว็บไซต์สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนแห่งชาติ)

ไม่เพียงแต่การเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย ที่ต้องฝึกฝนการเป็นผู้ตั้งคำถามที่ดี โลกภายนอกห้องเรียนทุกวันนี้ ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ไม่ใช่โลกที่ทักษะการค้นหาคำตอบที่ถูกต้อง เป็นทักษะที่เพียงพออีกแล้ว ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่มีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วตลอดเวลา คำตอบที่ถูกต้องในวันนี้ อาจจะล้าสมัยในวันรุ่งขึ้น และยิ่งไปกว่านั้น ในยุคของเทคโนโลยีสารสนเทศที่ก้าวล้ำ ข้อมูลต่างๆ สามารถถูกค้นพบเพียงสัมผัสที่ปลายนิ้วผ่านอุปกรณ์ต่างๆ อย่างคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ การค้นหาคำตอบหรือข้อมูลที่ผู้อื่นเป็นผู้ได้จัดทำไว้แล้ว เป็นทักษะที่ทวีความสำคัญน้อยลงไปทุกที การถามด้วย คำถาม ที่ดีและเหมาะสม การคิดวิเคราะห์ วิจารณ์ ที่นำไปสู่การสร้างสรรค์จากทะเลของข้อมูลที่มีนั้น ยิ่งทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยทางด้านการศึกษา พบว่า เมื่อนักเรียนได้รับการสนับสนุนให้ถามคำถามดีๆ ความสามารถที่จะเรียนรู้ จดจำและเข้าใจเนื้อหาในบทเรียนจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น (Palinscar and Brown, 1984)

ผมหวังว่า การเรียนการสอนของโรงเรียนไทย จะเน้นการให้นักเรียน "ถาม" มากยิ่งขึ้น ครูน่าจะพยายามกระตุ้นและเปิดโอกาส ให้เวลา กับนักเรียนไทยในการถามคำถามมากกว่าเดิม พยายามบ่มเพาะนิสัยการเป็นคนชั่งซักถาม อยากรู้อยากเห็น ให้เกิดกับตัวของนักเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิชาวิทยาศาสตร์