วันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2554

จะวัดความสามารถในการคิดวิเคราะห์ได้อย่างไร

จากที่ได้กล่าวถึงความหมายและความสำคัญของ “การคิดวิเคราะห์” (critical thinking) ในบทความก่อนหน้านี้ สำหรับบทความนี้จะขอกล่าวถึงว่า จะทำอย่างไร จึงจะสามารถบอกได้ว่า คนไหนมีความสามารถใน “การคิดวิเคราะห์” ที่ดี







จากการได้เข้า Workshop ที่จัดขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญจาก World Bank เกี่ยวกับวิธีการประเมิน (Assessment) ทักษะต่างๆ ของผู้เรียนและจากการสืบค้นทางอินเทอร์เน็ต ผมสรุปได้ว่า วิธีการประเมินทักษะการคิดวิเคราะห์มี 4 วิธีหลักดังต่อไปนี้






1. ให้นักเรียนอ่านบทความใดบทความหนึ่ง อาจจะเป็นบทความในหนังสือพิมพ์ หรือนิตยสาร และนักเรียนสามารถบ่งชี้ได้ว่า ข้อความใดเป็น ความเห็นข้อความใดเป็น ข้อเท็จจริงได้อย่างถุกต้อง

2. ให้นักเรียนอ่านบทความใดบทความหนึ่ง อาจจะเป็นในหนังสือพิมพ์ หรือนิตยสาร นักเรียนสามารถบ่งชี้ถึง สมมติฐานและ อคติของ "ผู้เขียน" บทความนั้นๆ ได้ อย่างถูกต้อง

3. นักเรียนสามารถ เขียนบทความสนับสนุนหรือโต้แย้ง ประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นประเด็นทางสังคม เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ เศรษฐกิจ ฯลฯ ได้อย่างเชื่อถือ มีข้อเท็จจริงที่เหมาะสมสนับสนุน และเมื่อได้อ่านแล้วสามารถคล้อยตามข้อสนับสนุนหรือข้อโต้แย้งของประเด็นในบทความนั้นๆ ได้





4. นักเรียนสามารถ "สร้างสมมติฐาน" จากการวิเคราะห์ข้อเท็จจริงต่างๆ ของสถานการณ์หนึ่งๆ ได้อย่างถูกต้อง

จะเห็นได้ว่า การประเมินทักษะการคิดวิเคราะห์ ที่ได้กล่าวมา ไม่มีการให้ความสำคัญในบริบทของการศึกษาไทย ไม่ว่าจะเป็นในระดับชั้นมัธยม หรือ ระดับมหาวิทยาลัย ไม่มีใครพูดถึง ส่วนใหญ่จะเป็นการวัดความสามารถในการจำเนื้อหาและทักษะการแก้โจทย์ปัญหา






หลายคนที่เคยสอบ TOEFL อาจจะตั้งข้อสังเกตว่า วิธีการวัดทักษะการคิดวิเคราะห์ทั้ง 3 วิธีนั้น มีอยู่ในเนื้อหาการสอบ TOEFL โดยเฉพาะในส่วนของ Reading และ Essay ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า คนที่ทำคะแนน TOEFL ได้ดี คือคนที่มีทักษะการคิดวิเคราะห์ที่ดีระดับหนึ่ง (และแน่นอนว่า มีทักษะทางภาษาอังกฤษที่ดีด้วย) ในขณะที่คนที่ไม่มีหรือไม่ให้ความสำคัญกับทักษะการคิดวิเคราะห์ อาจจะมองเห็นว่าการได้คะแนน TOEFL สูง คือการมีความชำนาญด้านภาษามาก ??? (ทั้งนี้ มีข้อสังเกต ในกรณีของนักเรียนไทยที่บางคน ได้ฝึกการทำข้อสอบ TOEFL ถึงกับที่ว่าเป็นนักทำข้อสอบ รู้เทคนิคต่างๆ ในการทำข้อสบ TOEFL จนช่ำชอง จนกระทั่ง อาจจะทำคะแนนสอบ TOEFL ได้ดีแต่ยังขาดทักษะการคิดวิเคราะห์ ก็เป็นได้)






หากมีคนถามว่า การศึกษาที่มีคุณภาพคือการศึกษาแบบใด ผมเองคิดว่า คำตอบคือ การศึกษาที่สอนให้นักเรียนมีทักษะการคิดวิเคราะห์ที่ดี (แต่คงไม่ทั้งหมด)
สุดท้าย ขอฝากวีดีโอจาก Youtube ที่อธิบายถึงทักษะและความสำคัญของ "การคิดวิเคราะห์" ไว้ ณ ที่นี้
























วันเสาร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เก็บตกการประชุมสัมมนาประสบการณ์จากโครงการ TIMSS และ PISA ของประเทศเพื่อนบ้าน

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้มีโอกาสไปเข้าร่วมประชุมสัมมนา เรื่อง การพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์: ประสบการณ์จากโครงการ PISA และ TIMSS ของฮ่องกง เกาหลีใต้และสิงคโปร์ ซึ่งจัดโดย สสวท. สพฐ. และ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา โดยภายในงาน ทางเจ้าภาพได้เรียนเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาจากทั้ง 3 ประเทศมาบอกเล่าประสบการณ์ของการพัฒนาการศึกษาของประเทศตัวเองให้เจ้าหน้าที่ ราชการของกระทรวง ครู นักการศึกษา ของไทยได้ฟังซักถาม และอภิปราย

จากการได้ฟังการบรรยายและอภิปรายนานกว่า 6 ชั่วโมง สรุปได้ว่า แต่ละประเทศ มีแนวทางที่แตกต่างกันบางส่วนและเหมือนกันในบางส่วน ในส่วนที่แตกต่างกันคือ เกาหลี มีวัฒนธรรมที่พ่อแม่ทุ่มเทให้กับการศึกษาของลูกมากอยู่แล้ว นักเรียนได้รับการสนับสนุนให้ใช้เวลาเรียนหลังโรงเรียนเลิกอีกหลายชั่วโมงในการทบทวน ฝึกทำโจทย์ ส่วนสิงคโปร์ได้อ้างว่า ครูเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการศึกษาของประเทศเขา มีการสร้าง Master Teacher หรือครูสอนดี ที่ได้รับเกียรติ และยกย่องให้มีฐานะพอๆ กับผู้บริหารระดับสูงของสถานศึกษา อีกทั้งการผลิตตำราที่มีคุณภาพสูงเหมาะกับบริบทของประเทศตัวเอง การศึกษาของสิงคโปร์กระจายได้ทั่วถึง นักเรียนคนใดที่ยากจนไม่มีเงินเรียน ได้รับการจัดสรรค่าเล่าเรียนจากครอบครัวที่ร่ำรวย อีกทั้งพ่อแม่คนสิงคโปร์ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาของลูก จะเอาใจใส่กับการเรียนของลูกมาก ส่วนฮ่องกง ได้อ้างอิงถึง ประเพณีและระบบการศึกษาที่ได้รับช่วงต่อมาจากประเทศอังกฤษ การมีหลักสูตรที่ค่อนข้างแน่นอน ไม่เปลี่ยนแปลงบ่อย และครูที่มีวุฒิและความชำนาญในวิชาที่จบการศึกษามา ทำให้สามารถสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในความแตกต่างที่กล่าวมานั้น ทั้ง 3 ประเทศมีสิ่งที่เหมือนกันคือ การมีครูที่ดี มีความสามารถ มีความชำนาญในสาขาที่สอนและ การที่พ่อแม่เอาใจใส่กับการศึกษาของลูก อีกทั้ง ตามข้อเสนอของศาสตราจารย์จากประเทศฮ่องกง ได้อ้างถึงวัฒนธรรมที่เหมือนกันของประเทศในแถบเอเชียตะวันออก นั่นคือ วัฒนธรรมขงจื้อ (Confucius) ที่ให้คุณค่ากับการสอบ นั่นคือ เป็นประเพณีที่ถือว่า การที่ลูกบ้านใดจะได้เป็นข้าราชการชั้นสูงหรือยกฐานะทางสังคมให้กับตัวเองและครอบครัวนั้น คือต้องสอบแข่งขันทั่วประเทศให้ผ่าน ในขณะที่ผู้ที่ทำข้อสอบไม่ผ่านจะได้ถูกตราหน้าว่าเป็นผู้แพ้และอับอาย ดังนั้น พ่อแม่ ญาติๆ ทุกคนของประเทศที่มีพื้นฐานของวัฒนธรรมขงจื๊อ จึงสนับสนุนการเรียนการเตรียมสอบลูกหลานอย่างสุดตัว ให้คร่ำเคร่ง ฝึกฝน มุมานะกับการเตรียมการทำข้อสอบที่จะส่งผลถึงอนาคตของลูกหลาน

นอกจากนี้ ในส่วนที่เหมือนกันส่วนหนึ่งที่ค่อนข้างเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจของทั้งสามประเทศ คือ ผลการสำรวจที่ออกมาเหมือนกันว่า นักเรียนในทั้ง 3 ประเทศ มีทัศนคติไม่ดี หรือ ไม่มีความสุขมากนัก กับการต้องเรียนวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์ในชั้นเรียน ซึ่งสาเหตุอาจเนื่องมาจาก การที่ถูกบังคับให้เรียนเพื่อสอบได้คะแนนดีๆ มากกว่าที่จะเรียนหนักเพราะอยากเรียนอยากรู้หรือมีความสนใจอย่างแท้จริง ซึ่งในส่วนนี้ ผู้เชี่ยวชาญจากฮ่องกงได้ให้ข้อคิดเห็นว่า การต้องแข่งขันกันอย่างหนักเพื่อสอบให้ได้คะแนนสูงๆ อาจส่งผลเชิงลบกับ “การใฝ่เรียนใฝ่รู้ตลอดชีวิต” ของนักเรียน

สำหรับประเทศไทย มีผู้เชี่ยวชาญจากหลายสำนัก ที่ได้ทำการวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำให้คะแนน PISA และ TIMSS ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ได้กล่าวถึงเหตุผลหลักๆ นั่นคือ ปัญหาการที่มีครูผู้สอนไม่มีคุณภาพ ไม่มีวุฒิตรงกับวิชาที่สอน การสอนที่ไม่เน้นกระบวนการคิดอย่างข้อสอบใน PISA การขาดการส่งเสริมและสนับสนุนในการเรียนจากผู้ปกครองและชุมชน อีกทั้ง การมีวัฒนธรรมของประเทศที่ไม่เอื้อหรือให้คุณค่ากับการคิดเชิงเหตุผลและการมีทัศนคติเชิงบวกกับวิทยาศาสตร์

สิ่งเหล่านี้ ผมเชื่อว่า ได้ให้ประโยชน์กับผู้ที่ได้เข้าฟัง ในการนำไปพิจารณาเพื่อปรับหรือวางแนวทางในการขับเคลื่อนการศึกษาของประเทศไทย ซึ่งผมเองเห็นด้วยอย่างมากกับการพยายามพัฒนาคุณภาพครู พยายามดึงคนเก่งๆ ระดับหัวกะทิให้มาเป็นครู และพัฒนาอาชีพครูให้ได้รับเกียรติและค่าครองชีพที่สูง เพราะครู คือกุญแจของการศึกษาที่มีคุณภาพ หรือไม่ว่าจะเป็นการพยายามให้พ่อแม่ได้มามีส่วนกับการศึกษาของลูกมากกว่านี้ การทำตำราที่มีคุณภาพเหมาะสมกับบริบทและวัฒนธรรมของประเทศไทย ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ คงต้องได้รับความร่วมมือ ความใส่ใจจากทุกฝ่าย ไม่เพียงบุคลากรรัฐในหน่วยงานของกระทรวงที่ได้มานั่งฟังบรรยายในวันนั้น

แต่ ถึงอย่างไรก็ดี หากจะให้มีการวางแนวทางให้นักเรียนไทยเป็นนักทำข้อสอบ PISA เพื่อที่จะได้คะแนน PISA ของประเทศขึ้น นั่นหมายถึง มีการจัดสรรเวลาหลังเลิกเรียนหรือวันหยุด เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกทำข้อสอบ PISA หรือ TIMSS กันหามรุ่งหามค่ำ ดังกับที่เกิดขึ้นกับการเรียนเสริมพิเศษของนักเรียนไทยที่ต้องติวเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยนั้น คงไม่ใช่วิถีทางที่เหมาะสม เพราะผมเองไม่คิดว่า การที่นักเรียนจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ จำเป็นต้องเป็นนักเรียนที่ได้คะแนน PISA สูงๆ เพียงอย่างเดียว เพราะมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่ข้อสอบไม่สามารถวัดได้ อย่างเช่น การมีสุขภาวะทางอารมณ์ที่ดี ( หรือที่เรียกกันว่า EQ) การมีบุคลิกภาพและทัศนคติ (character and attitude) ที่พร้อมที่จะอยู่ร่วมและทำงานกับผู้คนหลากหลายในสังคมได้อย่างมีความสุข หรือไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาอุปนิสัยและลักษณะของนักประดิษฐ์ คิดค้น อย่าง การเป็นคนที่มีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ (imagination and creativity) การมีอุปนิสัยศึกษาค้นคว้าด้วยความสนใจใคร่รู้ของตัวเอง (habit of following one’s natural curiosity) ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นไม่ได้ จากการถูกจัดให้อยู่ในห้องสี่เหลี่ยมและนั่งคิดตอบคำถามบนหน้ากระดาษซ้ำๆ กัน หากแต่บุคลิกลักษณะต่างๆ เหล่านี้ ต้องอาศัยช่วงเวลานอกห้องเรียน ที่ให้นักเรียนได้เลือกที่จะเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่ตัวเองชอบ และสนใจ อย่างอิสระ ได้ค้นหา ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ อาจารย์ เชื่อมโยง ความรู้ ประสบการณ์ที่ได้เรียนกับบุคคลและสิ่งแวดล้อมที่นักเรียนอยู่ สิ่งเหล่านี้ผมเห็นว่าต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครอง ครู และผู้ใหญ่ท่านอื่นๆ อย่างเต็มที่เฉกเช่นกันกับการมุ่งทำข้อสอบทางวิชาการให้คะแนนสูง