วันพุธที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

คนไทยกับการเป็นคนช่างซักถามด้วยความสนใจใฝ่รู้

จากประสบการณ์กว่า 10 ปี ที่ได้อยู่ในวงการศึกษา ค้นคว้า วิจัยทางด้าน วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการได้เคยเป็นนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา หรือการเป็นนักวิชาการ ผมยังได้ประสบกับสถานการณ์เดิมที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อได้เข้าไปฟังบรรยายหรือสัมมนาใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอโครงงานของนักเรียนระดับมัธยมปลาย การสัมมนาระดับปริญญาโทหรือเอก หรือการบรรยายผลงานการค้นคว้าวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ระดับมืออาชีพ นั่นก็คือ เมื่อมีการบรรยายหรือการสัมมนาจบลง และผู้พูดเปิดโอกาสให้ผู้ฟังได้ซักถาม จะไม่มีนักเรียน นักศึกษาไทย คนใด ยกมือถามอย่างกระตือรือร้น

เหตุการณ์แบบนี้ ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นสิ่งที่ผมได้ประสบเรื่อยมา และล่าสุด ผมได้เข้าร่วมประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วทท.) ครั้งที่ 36 ซึ่งเป็นงานประชุมวิชาการระดับชาติที่จัดขึ้นทุกปี โดยในปีนี้ จัดขึ้นที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ซึ่งใกล้ที่ทำงานผม จึงทำให้ผมได้มีโอกาสเดินทางเข้าไปฟังการบรรยายหลายหัวข้อที่ผมสนใจ หลังการบรรยายในแต่ละหัวข้อจบลง (ผมเข้าฟังประมาณ 5 หัวข้อบรรยาย) ผมได้ประสบกับสิ่งที่ผมได้พบตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา นั่นก็คือ เมื่อผู้บรรยายเปิดโอกาสให้ผู้ฟังได้ซักถาม กลับไม่มีผู้ฟังคนใด ยกมือขึ้นถามเลย ทั้งที่ นี่เป็นงานนำเสนองานวิจัย ระดับชาติ แต่ผู้ฟังที่นั่งอยู่ค่อนห้อง กลับไม่มีใครมีประเด็นสงสัย หรือสนใจ อยากรู้จากเรื่องที่ได้บรรยายมากว่าครึ่งชั่วโมงเลย หรือเป็นวัฒนธรรมไทยไปแล้ว ว่าการไม่ถามนั้นเป็นสิ่งนิยมปฏิบัติ


โปสเตอร์งานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 36


แน่นอนว่า นักเรียนไทย ไม่ได้ถูกฝึกให้เป็นผู้ถาม เพราะว่าโรงเรียนไม่ได้ประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนจาก “คำถาม” แต่เป็น “คำตอบ” ที่ถูกต้องของนักเรียน นักเรียนจึงได้ถูกส่งเสริมและขัดเกราให้มีทัศนคติกับการพยายามมุ่งตอบด้วยคำตอบที่ถูกต้อง ห้องเรียนไม่ได้ส่งเสริมการเสี่ยงหรือส่งเสริมให้เกิดความผิดแผก แหวกแนว ด้วยเหตุนี้ นักเรียนคนที่ถามคำถามในชั้นเรียนหรือในห้องบรรยาย ด้วย คำถาม ที่อาจจะนอกกรอบ นอกแนวทางจึงดูเหมือนกับ เป็นการแสดงความไม่รู้ ไม่เข้าใจ ในเนื้อหา หรืออาจจะเกินไปเลยไปถึง การถูกหมั่นไส้จากเพื่อนๆ เพราะการทำตัวเด่น ผิดแผกจากผู้อื่น การถามคำถามจึงดูเหมือนส่งผลเชิงลบและลบกับผู้ถาม การไม่ถามและนั่งนิ่งๆ ในห้องเรียนหรือห้องบรรยาย จึงเป็นการเซฟตัวเอง ไม่เสี่ยงกับการถูกมองว่า ไม่เข้าใจ อ่อนศักยภาพ หรือการถูกหมั่นไส้จากเพื่อนๆ ในห้อง

หากแต่ว่า การเป็นผู้ไม่ถาม นั่งนิ่งๆ เฝ้าแต่จะตอบด้วยคำตอบที่ถูกต้องนั้น จะทำให้มีเพียงทักษะของ "การจำ" ข้อมูลหรือข้อเท็จจริง ในขณะที่ ผู้ที่มุ่งถามด้วย คำถาม จากความสนใจใฝ่รู้ จะได้ฝึกการมีนิสัยเป็นคนช่างสังเกต ครุ่นคิด และพยายามสืบเสาะหาความรู้ด้วยตัวเอง (และอาจจะได้ความรู้หรือวิธีการใหม่ๆ ที่อาจจะไม่เคยมีใครคิดได้มาก่อน) เกิดความคิดสร้างสรรค์ วิเคราะห์ วิจารณ์ หรือบางที คำถามที่ดีมาก อาจจะนำไปสู่หัวข้อวิจัยที่ดีได้อีกด้วย

ภาพบรรยากาศในห้องบรรยายงาน วทท. 36 ที่ไบเทค บางนา (ที่มา: เว็บไซต์สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนแห่งชาติ)

ไม่เพียงแต่การเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย ที่ต้องฝึกฝนการเป็นผู้ตั้งคำถามที่ดี โลกภายนอกห้องเรียนทุกวันนี้ ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ไม่ใช่โลกที่ทักษะการค้นหาคำตอบที่ถูกต้อง เป็นทักษะที่เพียงพออีกแล้ว ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่มีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วตลอดเวลา คำตอบที่ถูกต้องในวันนี้ อาจจะล้าสมัยในวันรุ่งขึ้น และยิ่งไปกว่านั้น ในยุคของเทคโนโลยีสารสนเทศที่ก้าวล้ำ ข้อมูลต่างๆ สามารถถูกค้นพบเพียงสัมผัสที่ปลายนิ้วผ่านอุปกรณ์ต่างๆ อย่างคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ การค้นหาคำตอบหรือข้อมูลที่ผู้อื่นเป็นผู้ได้จัดทำไว้แล้ว เป็นทักษะที่ทวีความสำคัญน้อยลงไปทุกที การถามด้วย คำถาม ที่ดีและเหมาะสม การคิดวิเคราะห์ วิจารณ์ ที่นำไปสู่การสร้างสรรค์จากทะเลของข้อมูลที่มีนั้น ยิ่งทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยทางด้านการศึกษา พบว่า เมื่อนักเรียนได้รับการสนับสนุนให้ถามคำถามดีๆ ความสามารถที่จะเรียนรู้ จดจำและเข้าใจเนื้อหาในบทเรียนจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น (Palinscar and Brown, 1984)

ผมหวังว่า การเรียนการสอนของโรงเรียนไทย จะเน้นการให้นักเรียน "ถาม" มากยิ่งขึ้น ครูน่าจะพยายามกระตุ้นและเปิดโอกาส ให้เวลา กับนักเรียนไทยในการถามคำถามมากกว่าเดิม พยายามบ่มเพาะนิสัยการเป็นคนชั่งซักถาม อยากรู้อยากเห็น ให้เกิดกับตัวของนักเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิชาวิทยาศาสตร์


ไม่มีความคิดเห็น: