วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

วิทยาศาสตร์กับ "คำถาม"

จากที่ผมได้เคยกล่าวถึงหัวข้อเกี่ยวกับ "คนไทย กับการเป็นคนช่างซักถามด้วยความสนใจใฝ่รู้" ผมขอเพิ่มตัวอย่างสนับสนุนคำกล่าวของผม ดังนี้

ตัวอย่างแรก ผมได้มาจาก Workshop หนึ่งที่สถาบันที่ผมทำงานอยู่ มีใจความว่า ในศตวรรษที่ 16 ผู้คนที่เดินทางมองขึ้นไปบนท้องฟ้าในเวลากลางคืน และเห็นดาวอยู่กันเป็นรูปแบบที่ตายตัว และเคลื่อนที่ตามเส้นทางประจำอย่างสม่ำเสมอบนท้องฟ้า คนส่วนใหญ่ต่างก็สงสัยและถามคำถามว่า “ทำไมดวงดาวที่อยู่ในรูปแบบเหล่านั้นไม่ไปไหน” ซึ่งไม่ได้มีความหมายอะไร และไม่ได้นำไปสู่การเข้าใจหรือการสืบเสาะหาความรู้เพิ่มเติม แต่ว่า มีชายอีกคนหนึ่ง ได้มองบนท้องฟ้าเดียวกัน ได้ถามคำถามว่า ทำไม ดาวเคลื่อนที่ในลักษณะนั้น ซึ่งเป็นคำถามที่เขาได้ครุ่นคิดและพยายามหาคำตอบ จนนำไปสู่ รูปแบบแรกของจักรวาล (First models of the universe)” และความคิดพื้นฐานเกี่ยวกับฟิสิกส์ของระบบเคลื่อนที่ (Physics of moving systems) ชายคนนั้นคือ Sir Isaac Newton นั่นเอง

อีกตัวอย่างหนึ่ง ในหนังสือ The Pleasure of Finding Things Out ของ Richard P. Feynman นักฟิสิกส์ที่มีชื่อเสียง สัญชาติอเมริกัน เขาได้เล่าเกี่ยวกับอิทธิพลของพ่อของเขาในการมีส่วนทำให้เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดี ในสมัยที่เขายังเด็ก พ่อของเขา ชอบพาเขาไปเดินเล่นชมธรรมชาติในป่าใกล้ๆ หมู่บ้านของเขา และจะชอบอธิบายถึงสิ่งต่างๆ ที่พบเห็นในป่าให้เขาฟัง การเดินป่าเล่นของ Feynman กับพ่อเขา ทำให้เป็นที่สังเกตของคนในหมู่บ้าน ทำให้เกิดการเอาอย่าง เพราะแม่บ้านในในหมู่บ้านเห็นว่าเป็นเรื่องดี และ วันหนึ่ง เมื่อ Feynman ไปโรงเรียน เพื่อนของ Feynman ที่อยู่ในบริเวณหมู่บ้านเดียวกัน ได้ถามเขาว่า “รู้ไหมว่า นกสีน้ำตาลที่เห็นในป่านั้นชื่อนกอะไร” Feynman ตอบว่า “เขาไม่รู้” เพื่อนของ Feynman จึงบอกว่า “พ่อของนาย ไม่ได้สอนอะไรนายเลย เวลาไปเดินป่า” แต่ Feynman รู้ว่า เขาได้เรียนรู้จากพ่อมากมายเกี่ยวกับนก แต่สิ่งที่เขาได้เรียนรู้ ไม่ใช่ชื่อของนก เมื่อพ่อของเขาพาเขาไปเดินชมธรรมชาติในป่า พ่อของเขาจะถามว่า “ดูนกนั่นสิ นั่นคือนก 'brown-throated thrush' (ในภาษาอังกฤษ) ถ้าในภาษาเยอรมัน นกนี้มีชื่อเรียกว่า 'halsenflugel' ส่วนในภาษาจีน นกนี้จะชื่อว่า 'ชุง ลิง' แต่ถึงแม้ลูกอาจจะรู้ชื่อนกชนิดนี้ ในทุกภาษาบนโลกนี้ ลูกอาจจะยังคงไม่รู้อะไรเกี่ยวกับนกตัวนี้เลย” พ่อของ Feynman กล่าวต่อว่า “ เรามารู้จักนกชนิดนี้กันน นกชนิดนี้ ร้องเพลงได้ ตัวแม่จะคอยสอนตัวลูกให้บิน และพวกมันจะบินระยะทางหลายร้อยไมล์ข้ามประเทศและบินกลับมายังรัง แต่ยังไม่มีใครรู้เลยว่า นกพวกนี้ จำทางบินกลับถิ่นฐานเดิมได้อย่างไร” Feynman ได้เล่าต่อว่า เขาจึงได้เรียนรู้เกี่ยวกับ “นก” และธรรมชาติต่างๆ ในป่าจากพ่อของเขา โดยไม่ได้จดจำว่า นกที่เขาเห็นหรือพืชที่เขาพบนั้นชื่ออะไร การถามคำถามว่า “นกนี้ชื่ออะไร” จึงไมเป็นคำถามที่นำไปสู่การสืบเสาะหาความรู้ หรือการสร้างสรรค์ความรู้ใหม่ๆ

ตัวอย่างสุดท้าย ที่ผมประทับใจ เป็นเรื่องราวของของนักฟิสิกส์รางวัลโนเบล Isidor I. Rabi เขาเล่าไว้ว่า เขาเคยได้รับคำถามจากเพื่อนของเขาว่า ทำไม เขาถึงได้เลือกที่จะทำอาชีพเป็นนักวิทยาศาสตร์ ทำไมเขาไม่ไปเป็นหมอหรือทนาย หรือนักธุรกิจ เหมือนกับเด็กๆ ส่วนใหญ่แถวบ้าน Isidor I. Rabi ได้บอกเพื่อนเขาว่า “แม่ของผม สร้างให้ผมเป็นนักวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ผมยังเด็กโดยที่แม่ไม่รู้ตัว” Rabi เล่าต่อไปว่าในสมัยที่เขายังเด็ก แม่ของเด็กเชื้อสายยิวในบริเวณชุมชนของบ้านของเขานั้นมักจะถามลูกๆ ของตัวเองที่เพิ่งกลับมาจากโรงเรียนว่า “เป็นยังไง ที่โรงเรียนวันนี้ ลูกได้เรียนรู้อะไรบ้าง” แต่แม่ของ Rabi ไม่ได้ถามเขาด้วยคำถามแบบเดียวกันนั้น แม่ของ Rabi จะถามลูกๆ เมื่อกลับมาจากโรงเรียนว่า “วันนี้ ลูกได้ถามคำถามที่ดี บ้างหรือยัง” Rabi บอกว่า “นั่นคือความแตกต่าง การถามคำถามที่ดี ทำให้ผมอยากมีอาชีพเป็นนักวิทยาศาสตร์”

การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ของไทย ถ้าจะเน้น กระตุ้น หรือให้รางวัล กับนักเรียนที่ถามคำถามดีๆ (นอกจากการที่่่นักเรียนตอบคำถามได้ดีหรือถูกต้อง) อาจจะเป็นทางหนึ่งในการสร้างความเป็นนักวิทยาศาสตร์ให้กับนักเรียน น่าจะมีการส่งเสริมและสร้างนิสัยการเป็นคนช่างซักถามด้วยความสนใจใฝ่รู้ให้เกิดกับนักเรียนไทย สร้างบรรยากาศการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ในประเด็นต่างๆ ที่ได้เรียน ไม่เช่นนั้น ผมคงได้ประสบกับบรรยากาศเดิมในงานประชุมทางวิทยาศาสตร์ระดับประเทศ เหมือนอย่างที่ประสบใน 10 ปีที่ผ่านมา

ไม่มีความคิดเห็น: