วันเสาร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เก็บตกการประชุมสัมมนาประสบการณ์จากโครงการ TIMSS และ PISA ของประเทศเพื่อนบ้าน

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้มีโอกาสไปเข้าร่วมประชุมสัมมนา เรื่อง การพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์: ประสบการณ์จากโครงการ PISA และ TIMSS ของฮ่องกง เกาหลีใต้และสิงคโปร์ ซึ่งจัดโดย สสวท. สพฐ. และ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา โดยภายในงาน ทางเจ้าภาพได้เรียนเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาจากทั้ง 3 ประเทศมาบอกเล่าประสบการณ์ของการพัฒนาการศึกษาของประเทศตัวเองให้เจ้าหน้าที่ ราชการของกระทรวง ครู นักการศึกษา ของไทยได้ฟังซักถาม และอภิปราย

จากการได้ฟังการบรรยายและอภิปรายนานกว่า 6 ชั่วโมง สรุปได้ว่า แต่ละประเทศ มีแนวทางที่แตกต่างกันบางส่วนและเหมือนกันในบางส่วน ในส่วนที่แตกต่างกันคือ เกาหลี มีวัฒนธรรมที่พ่อแม่ทุ่มเทให้กับการศึกษาของลูกมากอยู่แล้ว นักเรียนได้รับการสนับสนุนให้ใช้เวลาเรียนหลังโรงเรียนเลิกอีกหลายชั่วโมงในการทบทวน ฝึกทำโจทย์ ส่วนสิงคโปร์ได้อ้างว่า ครูเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการศึกษาของประเทศเขา มีการสร้าง Master Teacher หรือครูสอนดี ที่ได้รับเกียรติ และยกย่องให้มีฐานะพอๆ กับผู้บริหารระดับสูงของสถานศึกษา อีกทั้งการผลิตตำราที่มีคุณภาพสูงเหมาะกับบริบทของประเทศตัวเอง การศึกษาของสิงคโปร์กระจายได้ทั่วถึง นักเรียนคนใดที่ยากจนไม่มีเงินเรียน ได้รับการจัดสรรค่าเล่าเรียนจากครอบครัวที่ร่ำรวย อีกทั้งพ่อแม่คนสิงคโปร์ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาของลูก จะเอาใจใส่กับการเรียนของลูกมาก ส่วนฮ่องกง ได้อ้างอิงถึง ประเพณีและระบบการศึกษาที่ได้รับช่วงต่อมาจากประเทศอังกฤษ การมีหลักสูตรที่ค่อนข้างแน่นอน ไม่เปลี่ยนแปลงบ่อย และครูที่มีวุฒิและความชำนาญในวิชาที่จบการศึกษามา ทำให้สามารถสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในความแตกต่างที่กล่าวมานั้น ทั้ง 3 ประเทศมีสิ่งที่เหมือนกันคือ การมีครูที่ดี มีความสามารถ มีความชำนาญในสาขาที่สอนและ การที่พ่อแม่เอาใจใส่กับการศึกษาของลูก อีกทั้ง ตามข้อเสนอของศาสตราจารย์จากประเทศฮ่องกง ได้อ้างถึงวัฒนธรรมที่เหมือนกันของประเทศในแถบเอเชียตะวันออก นั่นคือ วัฒนธรรมขงจื้อ (Confucius) ที่ให้คุณค่ากับการสอบ นั่นคือ เป็นประเพณีที่ถือว่า การที่ลูกบ้านใดจะได้เป็นข้าราชการชั้นสูงหรือยกฐานะทางสังคมให้กับตัวเองและครอบครัวนั้น คือต้องสอบแข่งขันทั่วประเทศให้ผ่าน ในขณะที่ผู้ที่ทำข้อสอบไม่ผ่านจะได้ถูกตราหน้าว่าเป็นผู้แพ้และอับอาย ดังนั้น พ่อแม่ ญาติๆ ทุกคนของประเทศที่มีพื้นฐานของวัฒนธรรมขงจื๊อ จึงสนับสนุนการเรียนการเตรียมสอบลูกหลานอย่างสุดตัว ให้คร่ำเคร่ง ฝึกฝน มุมานะกับการเตรียมการทำข้อสอบที่จะส่งผลถึงอนาคตของลูกหลาน

นอกจากนี้ ในส่วนที่เหมือนกันส่วนหนึ่งที่ค่อนข้างเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจของทั้งสามประเทศ คือ ผลการสำรวจที่ออกมาเหมือนกันว่า นักเรียนในทั้ง 3 ประเทศ มีทัศนคติไม่ดี หรือ ไม่มีความสุขมากนัก กับการต้องเรียนวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์ในชั้นเรียน ซึ่งสาเหตุอาจเนื่องมาจาก การที่ถูกบังคับให้เรียนเพื่อสอบได้คะแนนดีๆ มากกว่าที่จะเรียนหนักเพราะอยากเรียนอยากรู้หรือมีความสนใจอย่างแท้จริง ซึ่งในส่วนนี้ ผู้เชี่ยวชาญจากฮ่องกงได้ให้ข้อคิดเห็นว่า การต้องแข่งขันกันอย่างหนักเพื่อสอบให้ได้คะแนนสูงๆ อาจส่งผลเชิงลบกับ “การใฝ่เรียนใฝ่รู้ตลอดชีวิต” ของนักเรียน

สำหรับประเทศไทย มีผู้เชี่ยวชาญจากหลายสำนัก ที่ได้ทำการวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำให้คะแนน PISA และ TIMSS ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ได้กล่าวถึงเหตุผลหลักๆ นั่นคือ ปัญหาการที่มีครูผู้สอนไม่มีคุณภาพ ไม่มีวุฒิตรงกับวิชาที่สอน การสอนที่ไม่เน้นกระบวนการคิดอย่างข้อสอบใน PISA การขาดการส่งเสริมและสนับสนุนในการเรียนจากผู้ปกครองและชุมชน อีกทั้ง การมีวัฒนธรรมของประเทศที่ไม่เอื้อหรือให้คุณค่ากับการคิดเชิงเหตุผลและการมีทัศนคติเชิงบวกกับวิทยาศาสตร์

สิ่งเหล่านี้ ผมเชื่อว่า ได้ให้ประโยชน์กับผู้ที่ได้เข้าฟัง ในการนำไปพิจารณาเพื่อปรับหรือวางแนวทางในการขับเคลื่อนการศึกษาของประเทศไทย ซึ่งผมเองเห็นด้วยอย่างมากกับการพยายามพัฒนาคุณภาพครู พยายามดึงคนเก่งๆ ระดับหัวกะทิให้มาเป็นครู และพัฒนาอาชีพครูให้ได้รับเกียรติและค่าครองชีพที่สูง เพราะครู คือกุญแจของการศึกษาที่มีคุณภาพ หรือไม่ว่าจะเป็นการพยายามให้พ่อแม่ได้มามีส่วนกับการศึกษาของลูกมากกว่านี้ การทำตำราที่มีคุณภาพเหมาะสมกับบริบทและวัฒนธรรมของประเทศไทย ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ คงต้องได้รับความร่วมมือ ความใส่ใจจากทุกฝ่าย ไม่เพียงบุคลากรรัฐในหน่วยงานของกระทรวงที่ได้มานั่งฟังบรรยายในวันนั้น

แต่ ถึงอย่างไรก็ดี หากจะให้มีการวางแนวทางให้นักเรียนไทยเป็นนักทำข้อสอบ PISA เพื่อที่จะได้คะแนน PISA ของประเทศขึ้น นั่นหมายถึง มีการจัดสรรเวลาหลังเลิกเรียนหรือวันหยุด เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกทำข้อสอบ PISA หรือ TIMSS กันหามรุ่งหามค่ำ ดังกับที่เกิดขึ้นกับการเรียนเสริมพิเศษของนักเรียนไทยที่ต้องติวเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยนั้น คงไม่ใช่วิถีทางที่เหมาะสม เพราะผมเองไม่คิดว่า การที่นักเรียนจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ จำเป็นต้องเป็นนักเรียนที่ได้คะแนน PISA สูงๆ เพียงอย่างเดียว เพราะมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่ข้อสอบไม่สามารถวัดได้ อย่างเช่น การมีสุขภาวะทางอารมณ์ที่ดี ( หรือที่เรียกกันว่า EQ) การมีบุคลิกภาพและทัศนคติ (character and attitude) ที่พร้อมที่จะอยู่ร่วมและทำงานกับผู้คนหลากหลายในสังคมได้อย่างมีความสุข หรือไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาอุปนิสัยและลักษณะของนักประดิษฐ์ คิดค้น อย่าง การเป็นคนที่มีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ (imagination and creativity) การมีอุปนิสัยศึกษาค้นคว้าด้วยความสนใจใคร่รู้ของตัวเอง (habit of following one’s natural curiosity) ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นไม่ได้ จากการถูกจัดให้อยู่ในห้องสี่เหลี่ยมและนั่งคิดตอบคำถามบนหน้ากระดาษซ้ำๆ กัน หากแต่บุคลิกลักษณะต่างๆ เหล่านี้ ต้องอาศัยช่วงเวลานอกห้องเรียน ที่ให้นักเรียนได้เลือกที่จะเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่ตัวเองชอบ และสนใจ อย่างอิสระ ได้ค้นหา ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ อาจารย์ เชื่อมโยง ความรู้ ประสบการณ์ที่ได้เรียนกับบุคคลและสิ่งแวดล้อมที่นักเรียนอยู่ สิ่งเหล่านี้ผมเห็นว่าต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครอง ครู และผู้ใหญ่ท่านอื่นๆ อย่างเต็มที่เฉกเช่นกันกับการมุ่งทำข้อสอบทางวิชาการให้คะแนนสูง


ไม่มีความคิดเห็น: